จดลิขสิทธิ์โลโก้ ลิขสิทธิ์แบรนด์ จดเครื่องหมายการค้า จดสิทธิบัตร
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ
เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมาย หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน
ประเภทของเครื่องหมายที่สามารถขอรับความคุ้มครอง
มี 4 ประเภทคือ
1. เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมายที่นำไปใช้กับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
2. เครื่องหมายบริการ คือ เครื่องหมายที่นำไปใช้กับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้น แตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น
3. เครื่องหมายรับรอง คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้กับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้า หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น
4. เครื่องหมายร่วม คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัท หรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกันหรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน
การได้มาซึ่งความคุ้มครอง
เจ้าของเครื่องหมายการค้า จะต้องนำเครื่องหมายการค้าของตนไปทำการจดทะเบียนก่อน จึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ามิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
สิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้า
อาจมองได้ 2 ส่วน
1. เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน : เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น แต่จะฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกค่าเสียหายไม่ได้เว้นแต่จะเป็นกรณีลวงขาย
2. เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว : เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ และในกรณีที่ผู้อื่นละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วนั้น มีสิทธิที่จะฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายได้ และในกรณีที่มีผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนเจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
ดังนั้น ผู้ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าไม่ควรใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
ลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่สามารถจดทะเบียนได้
1. เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้า นั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น
2. เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ธงชาติ เครื่องหมายราชการ พระบรมฉายาลักษณ์
3. ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนทำให้สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โดยพิจารณาจากเสียงเรียกขาน รูปลักษณะของเครื่องหมาย ลักษณะการวางรูป คำ การใช้เครื่องหมายกับตัวสินค้า หรือเจตนาของผู้ขอ
ระยะเวลาที่ให้ความคุ้มครอง
เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว มีอายุความคุ้มครอง 10 ปี และเมื่อจะครบกำหนด สามารถต่ออายุได้เป็นคราว ๆไป คราวละ 10 ปี