artical
top of page

กฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่กับโลกยุคปัจจุบัน


การประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันมีการพัฒนาและแข่งขันกันมากขึ้น เครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือส่งเสริมการตลาดที่สำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า จึงยิ่งทวีความสำคัญขึ้นตามลำดับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตระหนักในข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าเพื่อทำให้ระบบการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าของประเทศไทยมีความก้าวหน้า เหมาะสม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการค้าของประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 38 ก วันที่ 29 เมษายน 2559 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายเสียง เนื่องจากการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน มีการแข่งขันสูงขึ้น การคิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาดในการนำเสนอสินค้าจึงเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีการนำเครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ คือ เสียง ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามาใช้ ในการประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่าย และไม่สับสนหลงผิด โดยมีตัวอย่างเครื่องหมายเสียง ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของสาธารณชน เช่น เสียงดนตรีจากรถขายไอศกรีม เสียงเริ่มต้นรายการโทรทัศน์ เสียงเริ่มต้นรายการข่าว เป็นต้น กฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่นี้ จึงได้มีการขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้สามารถรับจดทะเบียนเสียง เป็นเครื่องหมายการค้าได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้เครื่องหมายเสียงในการส่งเสริมการตลาด โดยจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

2. ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียนให้มีความชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น โดยยกเลิกขั้นตอนที่ให้ผู้ขอจดทะเบียนหลายรายซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันไปตกลงกันว่ารายหนึ่งรายใดจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนที่ได้ยื่นไว้เป็นรายแรกก่อน นอกจากนี้ ได้มีการลดระยะเวลาปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน การคัดค้าน โต้แย้ง การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ การปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการ จาก 90 วัน เหลือ 60 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการสนองตอบต่อการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน

3. กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับการนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ที่จดทะเบียนไว้มาใช้สำหรับสินค้าของตนเองหรือของบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเจ้าของเครื่องหมายการค้า เนื่องจากปัจจุบันมีการนำหีบห่อหรือภาชนะที่มีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของบุคคลอื่นมาบรรจุสินค้าที่ไม่ช่สินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เช่น น้ำมันเครื่อง ยาสระผม เป็นต้น โดยมีเจตนาที่จะให้ผู้ซื้อ/ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหาร และยา เป็นต้น

4. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อให้เหมาะสมและทันต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวทุกรายการ เช่น ค่าธรรมเนียมคำคัดค้าน เดิมฉบับละ 1,000 บาท ใหม่ ฉบับละ 2,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการปรับวิธีคิดค่าธรรมเนียม ในส่วนการยื่นคำขอจดทะเบียน การจดทะเบียน และการต่ออายุ จากเดิมที่คิดเป็นรายการสินค้า/บริการ เป็น หากสินค้า/บริการแต่ละจำพวก 1 ถึง 5 อย่าง คิดเป็นรายการสินค้า/บริการ และหากสินค้า/บริการ แต่ละจำพวก มากกว่า 5 อย่าง คิดเป็นจำพวก ทั้งนี้ การคิดเป็นจำพวก จะสอดคล้องกับการคิดค่าธรรมเนียมของพิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นภาคี

5. เพิ่มบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด ซึ่งจะเป็นการอำนายความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปยังประเทศสมาชิกของพิธีสารดังกล่าวอีก 97 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ผู้ประกอบการจะสามารถมายื่นขอจดทะเบียนได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ แทนการเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ

ทั้งนี้กฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่นี้ ในส่วนของการขยายขอบเขตความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายเสียง การปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียน บทกำหนดโทษ และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ส่วนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) จะมีผลใช้บังคับโดยการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันใช้บังคับต่อไป ที่มา : บทความในวารสารทรัพย์สินทางปัญญา IP Journal (April-June 2016)

Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page