top of page

10 ข้อต้องรู้ เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉบับล่าสุด


10 ข้อต้องรู้ เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉบับล่าสุด

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอธิบายว่า หัวใจสำคัญของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ แต่หากไม่ใช่การกระทำเพื่อการค้า รวมถึงมีการอ้างอิงที่มาก็สามารถทำได้ ภายใต้ข้อยกเว้นคือ ต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นลดลง หรือกระทบถึงสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของ ส่วนกรณีการส่งต่อรูปดอกไม้ใน Line ซึ่งเป็นรูปที่มีลิขสิทธิ์ ก็ถือว่ามีความผิด แต่เป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ 1. อะไรบ้างที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง มีอะไรหรือไม่ที่สามารถนำมาใช้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น บทความ บทเพลง บทละคร บทประพันธ์ หนังสือ ซอฟต์แวร์ ภาพเขียน ภาพข่าว ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ เป็นต้น แต่อะไรที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงข่าวประจำวันทั่วไปที่รายงานข้อเท็จจริงเพียงแค่ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร นั้น ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต 2. ดาวน์โหลดหนังหรือเพลงจากอินเตอร์เน็ต มาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้หรือไม่ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถเผยแพร่ต่อได้ ไม่ว่าเว็บไซต์นั้นเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดหรือไม่ก็ตาม 3. การนำบทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์ มาใส่ลง Facebook หรือแชร์ต่อผ่าน Line ทำได้หรือไม่ บทความหรือรูปภาพล้วนเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการ copy หรือส่งต่อ ต้องพิจารณาเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม หากนำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 หรือ 2 ภาพ โดยไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เป็นประโยชน์ทางการค้าหรือแสวงหากำไร และมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพนั้นๆ ก็อาจถือได้ว่า เป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 4. เพียงพอหรือไม่ หากมีการอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิต ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงต้องไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5. การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น ลบลายน้ำออก ปรับแต่งรูปหรือคลิป แล้วนำมาโพสต์บนเว็บไซต์ มีความผิดและโทษอย่างไร หากรู้อยู่แล้วว่า การกระทำใดๆอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากมีการลบลายน้ำดิจิทัลออก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นแล้วนำมาโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีความ ผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน * โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท * เพื่อการค้า ปรับ 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

* โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท * เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 6. การ copy ภาพหรือบทความจากอินเตอร์เน็ตในลักษณะใด ที่ต้องขออนุญาตหรือไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีที่ต้องขออนุญาตฯ เช่น การนำภาพหรือบทความไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตฯ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร อาทิ ใช้เพื่อการวิจัยหรือศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้เพื่อการวิจารณ์ ติชม หรือแนะนำผลงาน โดยรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น 7. การทำ embed คลิปของ YouTube มาไว้ใน blog เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์มาลงใน blog และถือเป็นการเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เป็นสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว กรณีของการแชร์ link เพื่อบอกที่มาของงานนั้นๆ อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ 8. หากซื้อผลงานลิขสิทธิ์ เช่น แผ่นเพลง หนังสือ รูปภาพ หรือซื้อโดยการดาวน์โหลดมาอย่างถูกต้อง สามารถนำออกขายต่อได้หรือไม่ การซื้อลักษณะดังกล่าว ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในงานนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานนั้นเพื่อนำออกขายได้ เพราะสิทธิในการทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เป็นสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว กรณีซื้อมาโดยการดาวน์โหลด ถือเป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือ license ในผลงานเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถนำออกขายต่อได้ 9. ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต หรือ ISPs อาทิ Google, YouTube, AIS, DTAC, True จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการฯอัพโหลดงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิด ออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล, ISPs ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ 10. ต้องทำอย่างไร หากมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้ละเมิดหยุดการกระทำ หรืออาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฟ้องร้องต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท โดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของศาลหรือกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีฯฝากเตือนประชาชนว่า หากไม่แน่ใจว่าการกระทำใดๆเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ไม่ควรทำ ทั้งนี้ หากเกิดความเสียหาย เจ้าของลิขสิทธิ์จะเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์

ที่มา : เรื่อง sanook.com / ภาพ mthai.com

Comments


Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page