top of page

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เพิ่มความน่าเชื่อถือร้านค้าออนไลน์ ด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์

เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ DBD Registered เป็นเครื่องหมายแสดงความมีตัวตนที่จดทะเบียนพาณิชย์และประกอบธุรกิจ e-Commerce ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกให้แก้ผู้ประกอบธุรกิจที่ยื่นขอและผ่านการตรวจสอบตามคุณสมบัติที่กำหนด เพื่อให้นำเครื่องหมายไปติดตั้งบนหน้าเว็บไซต์ สร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจมีตัวตนชัดเจนตามกฎหมาย

รู้หรือไม่ว่า ค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

(ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553)


ประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD registered) ให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน เพื่อนำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ของตนเอง เมื่อผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เห็นเครื่องหมาย DBD registered แล้วจะเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

2. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะนำรายชื่อเว็บไซต์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของกรมฯ (www.dbd.go.th) เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของผู้ประกอบการอีกช่องทางหนึ่ง

3. ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้ว สามารถยื่นขอใช้เครื่องหมาย รับรองความน่าเชื่อถือ (DBD verified) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ซึ่งเครื่องหมาย DBD verified นี้จะมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย DBD registered กล่าวคือ จะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดเท่านั้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trustmarkthai.com)

4. การได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมอบรมสัมมนา การได้รับคำแนะนำ และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น


ตัวอย่างเว็บไซต์ที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. มีระบบการสั่งซื้อ เช่น ระบบกรอกฟอร์ม ระบบตะกร้า e-mail หรืออื่น ๆ
2. มีระบบการชำระเงิน ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านระบบบัญชี การชำระด้วยบัตรเครดิต หรือ e-cash เป็นต้น
3. มีระบบสมัครสมาชิก เพื่อรับบริการข้อมูลหรืออื่น ๆ โดยมีการคิดค่าใช้จ่าย (ถือเป็นการขายบริการ)
4. มีวัตถุที่ประสงค์หลักในการรับจ้างโฆษณาสินค้าหรือบริการของผู้อื่น และมีรายได้จากการโฆษณานั้น
5. รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ หรือเพียงโฆษณาว่าเป็นผู้รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ (ถือว่าการออกแบบเว็บไซต์นั้นมีช่องทางการค้าปกติบนอินเทอร์เน็ต)
6. เว็บไซต์ให้บริการเกมส์ออนไลน์ที่คิดค่าบริการจากผู้เล่น (เจ้าของเว็บไซต์ต้องจดทะเบียน)
7. เว็บไซต์ที่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การ Download เพลงโปรแกรม เกมส์ Ringtone Screensaver SMS เป็นต้น


ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. มีเฉพาะหน้าร้านโชว์สินค้าของตนเอง แต่ทำการค้าในช่องทางปกติ (ไม่ใช่อินเทอร์เน็ต) แม้จะมีข้อความแจ้งว่าให้ติดต่อได้ เช่น สนใจโทร.ติดต่อ… หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ….
2. การโฆษณาสินค้าของตนเอง โดยลักษณะของการโฆษณานั้น ไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักของกิจการและไม่ใช่ช่องทางค้าปกติ แม้จะมี banner ของผู้อื่นมาติดและมีรายได้จาก banner ก็ตาม
3. การประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือบริการ เช่น เพื่อการสอน ประกาศรับสมัครงาน
4. การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้า
5. เว็บไซต์ส่วนตัว (ส่วนบุคคล) ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว การงาน การศึกษา หรือความสนใจส่วนตัว
6. เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูล โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่มีการเสียค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ


การไม่จดทะเบียนพาณิชย์ มีโทษอย่างไร
การไม่จดทะเบียนพาณิชย์ มีความผิด
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาท
จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง


ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บ www.dbd.go.th
bottom of page